การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในบริบทของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตอนที่ 1
Share this post on: Twitter Facebook
นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีจากท่าทีของรัฐบาลกับการแสดงความห่วงใยในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหนังสือไปถึงกระทรวงพลังงาน เพื่อแจ้งให้ กฟฝ. ยกเลิกการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) และผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA (Environmental Health Impact Assessment) ที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ในกรณีโครงการสร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และให้เริ่มต้นกระบวนการศึกษาผลกระทบใหมทั้ง 2 ฉบับ หลังจากที่ เครือข่ายปกป้องอันดามันถ่านหิน นักวิชาการรวมทั้งตัวแทนภาคประชาชนที่มีความกังวลใจเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการโครงการฯ ได้มีการเรียกร้อง ให้มีการทบทวนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่อย่างต่อเนื่อง
ความจริงที่มิอาจปฏิเสธได้คือการสั่นคลอนเสถียรภาพด้านพลังงานคือภัยคุกคามที่สำคัญของประเทศ เพราะพลังงานโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงในเกือบทุกมิติของสังคม อีกทั้งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวไทยซึ่งมีการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องทั้งจำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทย [1] ยังไม่รวมถึงแนวโน้มในอนาคตอันใกล้ที่รถยนต์ไฟฟ้าจะมาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติยิ่งกระตุ้นความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น [2]
ความจริงอีกประการที่มิอาจปฏิเสธได้เช่นเดียวกันคือ ทุกโครงการย่อมมีผลกระทบต่อทั้งมิติสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จะน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมีการนำ EIA มาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแนวปฎิบัติสากลที่ใช้กันในกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยแต่ละประเทศมีกฎระเบียบข้อบังคับรวมทั้งขั้นตอนในการดำเนินการ EIA ที่แตกต่างกันออกไป [3]
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือยังมีประเด็นสำคัญอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้ถูกระบุไว้ใน EIA หรือ EHIA เช่นการตรวจวัดสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons: PAHs) สารก่อการกลายพันธุ์ (Mutagen) ไดออกซินและฟิวแรน (Dioxins & Furans) แม้ว่าผลงานตีพิมพ์เกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งและสารก่อการกลายพันธุ์ในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว [4-11] บริษัทที่ปรึกษารวมทั้งนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯก็ไม่ควรละเลยการวิเคราะห์สารพิษที่มีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในฐานข้อมูลทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลหลายชิ้น ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าถ่านหินจากโรงไฟฟ้าคือแหล่งกำเนิดที่สำคัญของสาร PAHs และ Dioxin & Furans [12-15] รวมทั้งการศึกษาถึงผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจากการสัมผัสกับฝุ่นละอองและไอระเหยจากการเผาไหม้ถ่านหิน [16-19]
2.ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมีการนำเอาระบบติดตามการตรวจวัดมลพิษแบบต่อเนื่องหรือ CEM (Continuous Emission Monitoring) ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในการนำมาใช้เป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพของระบบบำบัดมลพิษและสะท้อนให้เห็นว่าการระบายมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมในระยะเวลาต่างๆนั้นอยู่ภายใต้กรอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ข้อจำกัดของระบบ CEM คือสามารถตรวจวัดได้เฉพาะตัวแทนของมลพิษทางอากาศหลักเช่น ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซโอโซน (O3) และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NO2) ผ่านเทคนิคต่างๆเช่น เคมิลูมิเนสเซนซ์ (Chemiluminescence) หรือการตรวจวัดระดับความเข้มข้นทางอ้อมของก๊าซโดยการตรวจวัดการเรืองแสงจากปฏิกิริยาทางเคมี เทคนิค Differential Absorption Infrared Laser เทคนิค Differential Optical Absorption Spectrometry หรือเทคนิค FT-IR (Fourier Transform-Infra Red) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมเนื่องจากระยะเวลาในการประเมินผลสั้นตอบโจทย์ความต้องการรับรู้ข้อมูลแบบ Real Time ได้ดี ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดทางด้านเทคนิคในการวิเคราะห์สารก่อมะเร็งและสารก่อการกลายพันธุ์แบบ Real Time ได้เนื่องจากระดับความเข้มข้นที่ต่ำมาก (ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง พิโคกรัม หรือ หนึ่งส่วนล้านล้าน กรัม) เครื่องมือวิเคราะห์ที่ได้รับความนิยมคือ เครื่องแก๊สโครมาโทรกราฟี-แมสสเปคสเปคโทรมิเตอร์ (Gas Chromatograph-Mass Spectrometer, GC-MS) เครื่องลิควิดโครมาโทรกราฟี-แมสสเปคสเปคโทรมิเตอร์ (Liquid Chromatograph-Mass Spectrometer, LC-MS) ซึ่งมีราคาสูงและต้องการใช้นักเคมีวิเคราะห์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลบำรุงรักษา ส่งผลให้การตรวจวัดสารก่อมะเร็ง PAHs และสารก่อการกลายพันธุ์ Dioxins & Furans เป็นไปด้วยความยากลำบาก ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้เทคนิคที่เรียกว่า AMES Test ซึ่งเป็นวิธีการทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ โดยทำการปรับปรุงสายพันธุ์ของแบคทีเรีย Salmonella typhimurium โดยมีจุดเด่นตรงที่ราคาถูกกว่าการตรวจวัดโดยใช้ GC-MS (High Resolution) แต่ข้อจำกัดคือไม่สามารถวิเคราะห์ไดออกซินออกเป็นรายตัวได้
3.ข้อจำกัดอีกประการคือ แนวปฏิบัติในการลดมลพิษเช่นการใช้เทคโนโลยีการเผาไหม้แบบ low NOx burner (LNB) การติดตั้งระบบ wet limestone flue gas desulphurization: WFGD หรือการติดตั้งระบบ Selective Catalytic Reduction (SCR) รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ดักฝุ่นละอองแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator; ESP) ตามที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ระบุไว้ในบทที่ 7 ของรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ มีส่วนสำคัญในการลดระดับความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนออกไซด์และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมทั้งฝุ่นละอองได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามการจัดการสารก่อมะเร็ง PAHs และสารก่อการกลายพันธุ์ Dioxins & Furans ด้วยวิธีการที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นอาจไม่เพียงพอด้วยเหตุที่ว่าสารพิษทั้งสองชนิดนี้สามารถจับติดกับฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กจิ๋วระดับนาโนเมตร (ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า หนึ่งส่วนพันล้านเมตร) ซึ่งอุปกรณ์ ESP ไม่สามารถดักจับได้ งานวิจัยล่าสุดได้ยืนยันผลการทดลองโดยนำระบบ ESP เปรียบเทียบกับการใช้ถุงกรองอากาศ (Fabric Filters) พบว่าการใช้ถุงกรองอากาศสามารถจัดการกับฝุ่นที่มีขนาดเล็กระดับ ไมครอน ได้ดีกว่า ESP [20] นอกจากนี้ยังมีการนำเอาเทคนิคการใช้ผงถ่านกัมมันต์ (Powdered Activated Carbon) หรือการกรองด้วยเยื่อ (Membrane Filtration) ซึ่งในทางเทคนิคแล้วสามารถดักจับฝุ่นละอองได้ถึงระดับนาโนเมตร
นอกจากเรื่องมลพิษสารก่อมะเร็งและสารก่อการกลายพันธุ์แล้ว มีอยู่อีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในมิติของการตรวจวัดโลหะหนักที่สมควรนำเข้ามาพิจารณาในรายงาน EHIA ฉบับใหม่ โดยตอนต่อไปผู้เขียนจะค้นหาข้อมูลอีกด้านมานำเสนอสู่สาธารณะเพื่อให้การประเมิน EHIA เป็นไปอย่างรัดกุมและครอบคลุมในทุกมิติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เอกสารอ้างอิง :
[1] ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๖๐ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรกฎาคม ๒๕๕๘ (http://www.mots.go.th/ewt_dl_link.php?nid=7114)
[2] Zhou, Y., Wang, M., Hao, H., Johnson, L., & Wang, H. (2015). Plug-in electric vehicle market penetration and incentives: a global review. Mitigation and Adaptation Strategies for Global Change, 20(5), 777-795.
[3] Suwanteep, K., Murayama, T., & Nishikizawa, S. (2016). Environmental impact assessment system in Thailand and its comparison with those in China and Japan. Environmental Impact Assessment Review, 58, 12-24.
[4] Pongpiachan, S., Choochuay, C., Hattayanone, M & Kositanont, C., 2013. Temporal and spatial distribution of particulate carcinogens and mutagens in Bangkok, Thailand. Asian Pacific Journal of Cancer Prevention, 14(3), 1879-87.
[5] Pongpiachan, S., 2013. Vertical distribution and potential risk of particulate polycyclic aromatic hydrocarbons in high buildings of Bangkok, Thailand. Asian Pacific Journal of Cancer Prevention, 14(3), 1865-77.
[6] Pongpiachan, S., 2013. Diurnal Variation, Vertical Distribution and Source Apportionment of Carcinogenic Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs) in Chiang-Mai, Thailand. Asian Pacific Journal of Cancer Prevention, 14(3), 1851-63.
[7] Pongpiachan, S., Tipmanee, D., Deelaman, W., Muprasit, J., Feldens, P., and Schwarzer, K., 2013. Risk assessment of the presence of polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) in coastal areas of Thailand affected by the 2004 tsunami. Marine Pollution Bulletin, 76, 370-8.
[8] Pongpiachan, S., 2015. A Preliminary Study of Using Polycyclic Aromatic Hydrocarbons as Chemical Tracers for Traceability in Soybean Products. Food Control, 47, 392-400.
[9] Pongpiachan, S., Tipmanee, D., Khumsup, C., Kittikoon, I., and Hirunyatrakul, P., 2015. Assessing risks to adults and preschool children posed by PM2.5-bound polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) during a biomass burning episode in Northern Thailand. Science of the Total Environment, 508, 435-444.
[10] Pongpiachan, S., Hattayanone, M., Choochuay, C., Mekmok, R., Wuttijak, N., and Ketratanakul, A. 2015. Enhanced PM10 bounded PAHs from shipping emissions. Atmospheric Environment, 108, 13-19.
[11] Pongpiachan, S., Hattayanone, M., Suttinun, O., Khumsup, C., Kittikoon, I., Hiruyatrakul, P., and Cao, J., 2017. Assessing human exposure to PM10-bound polycyclic aromatic hydrocarbons during fireworks displays. Atmospheric Pollution Research (In Press: http://dx.doi.org/10.1016/j.apr.2017.01.014).
[12] Liu, G., Niu, Z., Van Niekerk, D., Xue, J., & Zheng, L. (2008). Polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) from coal combustion: emissions, analysis, and toxicology. In Reviews of environmental contamination and toxicology (pp. 1-28). Springer New York.
[13] Zhang, Y., Schauer, J. J., Zhang, Y., Zeng, L., Wei, Y., Liu, Y., & Shao, M. (2008). Characteristics of particulate carbon emissions from real-world Chinese coal combustion. Environmental science & technology, 42(14), 5068-5073.
[14] Stalikas, C. D., Chaidou, C. I., & Pilidis, G. A. (1997). Enrichment of PAHs and heavy metals in soils in the vicinity of the lignite-fired power plants of West Macedonia (Greece). Science of the Total Environment, 204(2), 135-146.
[15] Kong, S., Shi, J., Lu, B., Qiu, W., Zhang, B., Peng, Y., … & Bai, Z. (2011). Characterization of PAHs within PM 10 fraction for ashes from coke production, iron smelt, heating station and power plant stacks in Liaoning Province, China. Atmospheric Environment, 45(23), 3777-3785.
[16] Mohorovic, L. (2004). First two months of pregnancy—critical time for preterm delivery and low birthweight caused by adverse effects of coal combustion toxics. Early human development, 80(2), 115-123.
[17] Finkelman, R. B. (2004). Potential health impacts of burning coal beds and waste banks. International Journal of Coal Geology, 59(1), 19-24.
[18] Markandya, A., & Wilkinson, P. (2007). Electricity generation and health. The Lancet, 370(9591), 979-990.
[19] Matzenbacher, C. A., Garcia, A. L. H., dos Santos, M. S., Nicolau, C. C., Premoli, S., Corrêa, D. S., … & Kalkreuth, W. (2017). DNA damage induced by coal dust, fly and bottom ash from coal combustion evaluated using the micronucleus test and comet assay in vitro. Journal of Hazardous Materials, 324, 781-788.
[20] Nelson, P. F., Shah, P., Strezov, V., Halliburton, B., & Carras, J. N. (2010). Environmental impacts of coal combustion: A risk approach to assessment of emissions. Fuel, 89(4), 810-816.