ออกนอกระบบเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โอกาส หรือ ความเสี่ยง?
Share this post on: Twitter Facebook
ท่ามกลางกระแสการขับเคลื่อนจากฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยของรัฐที่พยายามอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูที่จะปรับเปลี่ยนสภาพจากมหาวิทยาลัยของรัฐซึ่งมีรูปแบบการบริหารจัดการแบบราชการทั้งหมด มาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตามความใน มาตรา 36 แห่ง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมายถึงการคงสภาพความเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐซึ่งไม่ใช่มหาวิทยาลัยเอกชน ยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและเป็นรัฐวิสาหกิจแต่เป็นสถานศึกษาที่มีอิสระในการพัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วย การจัดตั้งสถานศึกษานั้น ๆ
แปลไทยให้เป็นไทยก็คือ แม้ว่าจะออกนอกระบบไปแล้วแต่รัฐก็ยังคงสนับสนุนในด้านงบประมาณแผ่นดิน (Block Grant) ให้อยู่บางส่วนอย่างเพียงพอที่จำเป็นต่อการประกันคุณภาพการศึกษาไว้ได้เท่านั้น เช่นเงินเดือนของข้าราชการประจำและพนักงานมหาวิทยาลัยในขณะที่ผู้บริหารสามารถบริหารจัดการเงินรายได้ของสถาบันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งหากสถาบันไหนโชคดีที่ได้ผู้บริหารที่นอกจากจะมีความสามารถสูงแล้วยังมีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ความรุ่งเรืองก็จะบังเกิดขึ้นดังที่จะสังเกตได้จากมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐหลายแห่งหลังออกนอกระบบไปแล้วก็สามารถติดอันดับโลกได้แม้ว่าระยะหลังในภาพรวมอันดับโลกจะตกลงไปบ้างจากความเข้มข้นในการแข่งขันด้านการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ในทางตรงข้ามยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและการสืบทอดอำนาจผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐดังที่ตกเป็นข่าวในสังคมอย่างคดียักยอกเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกว่า 1.6 พันล้านหรือความวุ่นวายในโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จนมีคดีความระหว่างผู้บริหารและ จนท.มหาวิทยาลัย รวมทั้งการร้องเรียนสภามหาวิทยาลัย แต่งตั้ง รก.อธิการบดีไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งที่พ้นขึ้นมาเหนือผิวน้ำเท่านั้น ความน่ากลัวที่แท้จริงคือความไม่โปร่งใสที่ถูกซุกไว้อยู่ใต้พรมซึ่งย่อมมีมากกว่าข่าวที่ปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ดังนั้น โอกาส และ ความเสี่ยง จึงเป็นสิ่งที่บุคลากรของแต่ละมหาวิทยาลัยต้องพิจารณาและไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบ บวกลบคูณหารกันให้ดีก่อนตัดสินใจที่จะออกนอกระบบเพราะภายใต้การชักจูงและหว่านล้อมเรื่องอัตราเงินเดือนที่สูงขึ้นจากฝ่ายบริหาร ท่านควรคิดเผื่อไปถึงอนาคตข้างหน้าเรื่องเงินรายได้ขององค์กรโดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่ไม่มีมรดกตกทอด ไม่มีคณะที่เป็นแหล่งสร้างรายได้หลักอย่างชัดเจนเช่น คณะแพทย์ศาสตร์ ซึ่งมีโรงพยาบาลในการให้บริการรักษาผู้ป่วยหรือมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งทางสถาบันสามารถหักค่าธรรมเนียมบริการวิชาการจากการเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างต่างๆของคณาจารย์ได้ บริบทในการบริหารจัดการของแต่ละสถาบันการศึกษาจึงมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่พอสมควรขึ้นอยู่กับธรรมชาติและวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละแห่ง ในกรณีที่สถาบันการศึกษาที่ท่านสังกัดอยู่ไม่มีหน่วยงานที่สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบกำ สิ่งที่ควรตั้งคำถามต่อผู้บริหารเป็นอย่างยิ่งคือ แผนการเงินของสถาบันในอีก 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้าจะเป็นเช่นไร? หากคำตอบที่ได้รับคือการวางแผนการเงินที่จะพึ่งพาแค่ Block Grant หรืองบอุดหนุนจากทางภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียวโดยปราศจากการเตรียมการในการสร้างรายได้อื่นให้กับสถาบันเพิ่มอย่างเป็นรูปธรรม แสดงว่าหน่วยงานของท่านกำลังเข้าสู่จุดเสื่อมถอยแล้ว จริงอยู่ที่ผู้บริหารในบางสถาบันอาจมีการเตรียมการที่จะใช้พื้นที่และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยในการสร้างรายได้เพิ่ม แต่ในทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้นจึงควรตั้งคำถามต่อไปอีกว่าในกรณีที่เกิดการขาดทุนใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ? ประเด็นนี้จะต่างจากมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวของบางตระกูล ดังนั้นทายาทผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากผลลัพธ์ของการบริหารย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ว่าจะเป็นในเชิงบวกหรือลบ ต่างจากสถาบันการศึกษาของรัฐที่ยากจะหาผู้มารับผิดชอบจากการบริหารที่ล้มเหลว
ปัญหาอีกหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นตามมาคือเรื่องงบประมาณในการจ่ายค่าตอบแทนวิทยฐานะของทั้งอาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุน ยกตัวอย่างเช่นในคณะหนึ่งก่อนออกนอกระบบสมมุติว่ามีสัดส่วนของบุคลากรผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และ ศาสตราจารย์ คิดเป็นร้อยละ 30 20 และ 10 ตามลำดับที่เหลืออีกร้อยละ 40 เป็นอาจารย์ที่ยังไม่มีวิทยฐานะ ดังนั้นก่อนออกนอกระบบสิ่งที่ผู้บริหารสามารถทำได้คือการขอ Block Grant ตามโครงสร้างที่เป็นจริงนั้นคืออัตราเงินเดือนที่รวมค่าตอบแทนวิทยฐานะของอาจารย์ภายในคณะตามสัดส่วนที่ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น หลังจากออกนอกระบบไปแล้วสมมุติว่าเหล่าคณาจารย์เร่งผลิตผลงานทางวิชาการจนโครงสร้างของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเปลี่ยนมาเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และ ศาสตราจารย์ คิดเป็นร้อยละ 40 30 และ 30 โดยอาจารย์ทุกคนมีวิทยฐานะหมด คำถามคือส่วนต่างที่ต้องจ่ายเพิ่มให้กับคณาจารย์ที่ได้รับการเลื่อนขั้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนกลางของสถาบันหรือว่าคณะต้นสังกัดต้องเป็นผู้จ่าย? แล้วหากส่วนกลางจะรับเป็นเจ้าภาพไปดำเนินการศักยภาพทางการเงินของสถาบันจะรองรับต่อไปอีกได้นานกี่ปี? ยังไม่รวมถึงบุคลากรสายสนับสนุนที่ย่อมหวังความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานในการรับเลื่อนตำแหน่งเป็นระดับชำนาญการหรือระดับชำนาญการพิเศษ ปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วในมหาวิทยาลัยที่ได้ออกนอกระบบไปก่อนหน้านี้คือ ส่วนกลางมีแนวโน้มที่จะผลักภาระความรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปให้แต่ละคณะดูแล ซึ่งคณะที่สามารถหารายได้มากจากการบริการวิชาการหรือการจัดฝึกอบรมรวมทั้งการเปิดหลักสูตรภาคพิเศษต่างๆย่อมไม่ติดขัดกับเงื่อนไขดังกล่าวแต่ใช่ว่าทุกคณะจะมีศักยภาพในการหารายได้เหมือนกันหมด เช่น คณะที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ของประเทศ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ปรัชญา หรืองานวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการต่อยอดของนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆเช่น ฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์ขั้นสูง อาจต้องถูกยุบหรือปิดตัวลงไปเพราะไม่สามารถหารายได้มาหล่อเลี้ยงตัวเองได้เนื่องจากขาดความนิยม เมื่อพิจารณาถึงข้อจำกัดตรงส่วนนี้แล้วมีความเป็นไปได้สูงที่อนาคตการศึกษาของประเทศนี้จะเต็มไปด้วยหลักสูตรที่เน้นหางานและเงินง่ายตามกระแสทุนนิยม แล้วเวลาที่ชาติถึงภาวะวิกฤตขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่สามารถทำเงินได้แต่จำเป็นต่อการพัฒนาของประเทศละจะทำเช่นไร?
อีกประเด็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งคือเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้บริหารระดับสูงที่มีส่วนผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ นั้นคือรายรับที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลไม่ว่าจะเป็นจำนวนเงินเดือนที่สูงขึ้นอย่างน่าใจหาย การตั้งโบนัสให้ตนเอง และเบี้ยประชุมจากการไปนั่งเป็นประธานหลักสูตรต่างๆที่เกิดขึ้นภายในสถาบัน พฤติกรรมนี้อาจเข้าข่ายการ “ชงเองกินเอง” จึงสมควรอย่างยิ่งที่คณาจารย์และเจ้าหน้าที่สถาบันควรผลักดันให้มีการออกกฏระเบียบที่ชัดเจน หรือมีการระบุเป็นบทเฉพาะกาลลงในพระราชบัญญัติของแต่ละสถาบันเพื่อให้มีธรรมาภิบาลเช่น ห้ามผู้บริหารที่มีส่วนผลักดันให้มีการออกนอกระบบรับตำแหน่งบริหารต่อ หรือ หากจะรับตำแหน่งต่อก็ไม่ควรรับค่าตอบแทนหรือเงินเดือนมากไปกว่าเดิม เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา และที่สำคัญควรมีความโปร่งใสในเรื่องการแจ้งเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูงให้ประชาคมได้รับทราบก่อนล่วงหน้า
ความเสี่ยงอีกประการที่ไม่ควรมองข้ามคืออำนาจอันล้นฟ้าของผู้บริหารที่สามารถ “ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้” ได้ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาไหนที่โชคร้ายได้ผู้นำที่มีแนวคิดแบบ “นกไม่มีขน คนไม่มีพวกอย่าคิดบินสูง” เข้ามาบริหารจัดการ หายนะที่จะเกิดขึ้นคือการเล่นระบบพวกพ้อง การสืบทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้พรรคพวกตนเองเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรส่วนกลาง ของสถาบัน ตัวอย่างความพยายามในการกินรวบทั้งอำนาจในการบริหารและฝ่ายตุลาการที่เห็นได้อย่างชัดเจนนั้นคือการร่าง พระราชบัญญัติสถาบันฯที่กำหนดให้ รองอธิการบดีทุกฝ่าย มีตำแหน่งในการนั่งเป็นกรรมการสภาฯ ซึ่งเท่ากับว่าขาดการถ่วงดุลด้านโครงสร้างทางอำนาจ และเปิดช่องให้ผู้บริหารมีสิทธิอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการเข้ามาควบคุมความเป็นไปของสถาบัน
การออกนอกระบบจึงเป็นทั้ง วิกฤต และ โอกาส แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้คือบริบททางสังคมของอาจารย์จากเดิมที่เป็นผู้ให้ความรู้แก่ลูกศิษย์ ซึ่งบางครั้งก็อาจต้องมีการขัดใจกันบ้างเช่นการกำหนดมาตรฐานทางการศึกษาที่สูงด้วยความหวังดีที่อยากให้ศิษย์ทุกคนจบออกไปอย่างมีคุณภาพ อาจต้องแปรสภาพเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายความรู้ที่จำเป็นต้องทำตามความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาซื้อความรู้ โดยบางครั้งอาจต้องลดมาตรฐานลงเพื่อเอาใจลูกค้า ในกรณีที่เลวร้ายอาจถึงขั้นมีการปล่อยเกรดและแจกเกียรตินิยมให้กันอย่างง่ายๆเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาเข้ามาเรียนกันมากขึ้นและเมื่อถึงวันนั้นบทสวดพิธีไหว้ครูรวมทั้งพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาและรูปแบบใหม่เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยของทุนนิยมซึ่งยึดเอาความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้งด้วยเช่นเดียวกัน