เทคโนโลยีหม้อต้มไอน้ำรักษ์โลก
Share this post on: Twitter Facebook
สืบเนื่องจากรัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 และให้สัตยาบันในอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants : POPs) ในฐานะประเทศภาคีสมาชิกของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2548 และต่อมาในการประชุมรัฐภาคีของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 4 ระหว่างวันที่ 4 – 8 พฤษภาคม 2552 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ได้เห็นชอบในการบรรจุรายชื่อสารเคมีเพิ่มจากเดิม 12 ชนิด อีก 9 ชนิด รวมเป็น 21 ชนิด ในฐานะประเทศภาคีสมาชิกของอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ได้เข้าร่วมในกลุ่มความร่วมมือด้านเทคนิคที่ดีที่สุดและแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (East and South East Asia Regional Forum on Best Available Techniques and Best Environmental Practices : ESEA Regional Forum on BAT/BEP) ซึ่งเป็นผลมาจากการประชุมระดับรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2550 ณ กรุงเทพมหานคร การจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือฯดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคในการพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Techniques: BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practices: BEP) และมีเป้าหมายเพื่อลดการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจจากแหล่งกำเนิดที่เป็นประเด็นเร่งด่วนของภูมิภาคจากแหล่งกำเนิด 6 ประเภท คือ การเผาขยะและกากของเสียอันตราย, การเผาในที่โล่งแจ้ง, อุตสาหกรรมเหล็กและโลหะ, การผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อน, การเผาของเสียอันตรายในเตาซีเมนต์ และ เตาเผาศพ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ในการลดปริมาณการปลดปล่อยสาร POPs จากแหล่งกำเนิดประเภทอื่น ทางกรมควบคุมมลพิษในฐานะศูนย์ประสานงานของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization : UNIDO) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการปลดปล่อยสาร POPs จากหน่วยงานที่ใช้พลังงานความร้อนเชื้อเพลิงฟอสซิลและหม้อต้มไอน้ำอุตสาหกรรมซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ จึงจัดให้มีการเผยแพร่หนังสือเชิงวิชาการการภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยีหม้อไอน้ำรักษ์โลก (Green Boiler Technology)” เล่มนี้ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างความตระหนักในเรื่องเทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Techniques: BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practices: BEP) รวมทั้งกระตุ้นจิตสำนึกในทุกภาคส่วนของสังคมในการมีส่วนร่วมลดปริมาณการปลดปล่อยสาร POPs จากหน่วยงานที่ใช้พลังงานความร้อนเชื้อเพลิงฟอสซิลและหม้อต้มไอน้ำอุตสาหกรรมในประเทศไทย
สุดท้ายนี้ ทางคณะผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะมีส่วนช่วยให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน