โลกโซเชียล
Share this post on: Twitter Facebook
หลังจากถูกตัดขาดไปจากโลกโซเชียลและการใช้ Email ไปเกือบหนึ่งเดือนเต็มด้วยกฏข้อบังคับของสถานีวิจัย Great Wall ซึ่งใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตจากประเทศจีนส่งผลให้ไม่สามารถใช้ Facebook Gmail Google หรือแม้แต่ค้นหาข้อมูลอื่นใดได้เลยด้วยคุณภาพสัญญาณที่แปรผันตามสภาพดินฟ้าอากาศอันแปรปรวนของขั้วโลกใต้ เลยทำให้อดแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นที่สำคัญทางสังคมไปหลายเรื่อง นอกจากเรื่องการเสียชีวิตของคุณ ปอ ทฤษฎี อันนำมาซึ่งข้อถกเถียงทางด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนไทยและปรากฏการณ์ลูกเทพซึ่งผมมองว่ามันคืออาการป่วยทางจิตอย่างหนึ่งของคนที่หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องอวิชชาแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึง “ประเด็นร้อนทันตแพทย์หญิงหนีทุน”
ส่วนตัวแล้วถือว่าอยู่ในสภาพที่เรียกว่าใกล้เคียงหรือมากกว่าทันตแพทย์หญิงคนนี้เลยเพราะ เธอต้องใช้ทุน 10 ปีในขณะที่ผมต้องใช้ทุนถึง 15 ปี เนื่องจากรับทุนไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงปริญญาเอก เรียกได้ว่าติดหนี้บุญคุณประเทศชาติมากจนไม่รู้ว่าจะใช้ได้หมดในชาตินี้หรือไม่ และด้วยเหตุผลดังกล่าวหลังจากเรียนจบปริญญาเอกผมจึงตัดสินใจที่เลือกจะไปใช้ทุนต่อที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เองโดยทุน ก.พ. ที่ผมได้รับไม่ได้มีสัญญาผูกพันว่าต้องไปชดใช้ที่ มอ. แต่อย่างใด ทั้งหมดเป็นความประสงค์โดยส่วนตัวทั้งสิ้น ในความคิดเบื้องต้นเลยคือไม่ว่าจะทำงานที่ไหน จังหวัดไหน ก็ประเทศไทยเหมือนกัน สามารถทำงานรับใช้ชาติได้เหมือนกัน ตอนแรกก็ถูกคนที่รู้จักรวมทั้งเจ้าหน้าที่ กพ. เองบางท่านได้ท้วงติงมาว่า คิดดีแล้วหรือ? เพราะพื้นเพผมเป็นคนเชียงใหม่ และไม่ได้มีญาติพี่น้องอยู่ที่ทางใต้แม้แต่คนเดียว ทำไมถึงตัดสินใจแบบนี้? ในความคิดตอนนั้นของผมก็คือ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่ มอ. น่าจะตรงกับสายงานที่ผมทำมากที่สุดเนื่องจากได้ทำวิจัยด้านสมุทรศาสตร์ตอน ป.ตรี และเรื่องเคมีสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับดินพลุในตอน ป.โท แม้ตอน ป.เอก จะจบด้านมลพิษทางอากาศมาก็ตาม คิดว่าคงไปเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมให้ที่นั้นได้บ้างไม่มากก็น้อย
ด้วยความที่ยังโลกสวย อุดมการณ์จัด และอ่อนด้อยต่อโลก เลยลืมมองประเด็นทางด้าน “การเมือง” และ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ในสถาบันการศึกษาซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการทำงานด้านวิชาการ ณ ขณะนั้น เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นของหลวงและแรกเริ่มเดิมทีมันควรมีไว้เพื่อการค้นคว้าวิจัยของเด็กนักศึกษากลับถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทนภายใต้เสื้อคลุมของคำว่า “บริการวิชาการ” ซึ่งเปรียบเสมือนได้กับคำประกาศิตที่สามารถเปลี่ยนดำให้เป็นขาวได้เพียงชั่วพริบตา ผมรวมทั้งรุ่นน้องที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกันได้ร่างจดหมายไปยังผู้บริหารมหาลัยในยุคนั้น (เกือบหกปีที่แล้ว) เพื่อท้วงติงประเด็นที่ว่าทรัพยากรของมหาวิทยาลัยทั้งที่เป็นอุปกรณ์ เครื่องมือ และ บุคลากร ควรมีไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดคืองานวิจัยของนักศึกษาเท่านั้น แต่เสียงสะท้อนที่ได้รับกลับมาคือความเพิกเฉย ส่งผลให้ผมต้องไปหาความร่วมมือกับต่างมหาวิทยาลัยและต่างประเทศมากขึ้นจนทำให้ไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในมหาลัยได้ตลอดเวลา จนเป็นที่มาของความพยายามของผู้บริหารบางคนที่จะเอาผิดผมเรื่องวินัย ซึ่งเรื่องนี้เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ผมตัดสินใจขอลาออกจากที่ มอ. ระหว่างนั้นก็ได้มีบริษัทเอกชนญี่ปุ่นหลายแห่งซึ่งหากเอ่ยชื่อไปทุกท่านก็คงรู้จัก ได้ติดต่อยื่นข้อเสนอว่าจะชดใช้ทุนให้หมด พร้อมกับตำแหน่ง MD แต่ผมก็ได้ปฏิเสธไปแบบสุภาพว่ายินดีที่จะทำหน้าที่ชดใช้ทุนรัฐบาลอยู่ที่เมืองไทยต่อไป เพื่อนหรือรุ่นพี่บางคนที่ทราบเรื่องถึงกับเอ่ยปากออกมาว่า “ตกลงมึงมันโง่หรือฉลาดกันแน่?” ผมเลยตอบไปสั้นๆว่า “ขอเป็นไอ้โง่ที่มีอุดมการณ์ดีกว่าเป็นคนฉลาดที่อยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี”
ส่วนตัวแล้วผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่ ก.พ. ต้องการไม่ใช่เงินชดเชยสามเท่าจากการใช้ทุนหากแต่เป็นตัวนักเรียนทุนซึ่งเป็นทรัพยากรทางด้านบุคคลของประเทศซึ่งมิอาจประเมินค่าเป็นเม็ดเงินออกมาได้ ทั้งที่คนไทยเวลาไปอยู่ต่างประเทศสุดแสนจะเก่ง แต่ทำไมพอกลับมาเมืองไทยถึงทำอะไรไม่ค่อยจะได้ แสดงศักยภาพตัวเองได้ไม่เต็มที่? คำตอบของทุกคำถามคืออยู่ที่ระบบ และแนวคิดรวมทั้งวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงว่าจะสามารถไปถึงระดับ World Class ได้จริงหรือเปล่า? เหนือสิ่งอื่นใดคือมีความจริงใจที่จะพัฒนายกระดับการศึกษาไทยให้สูงขึ้นหรือเพียงแค่นั่งกินเงินเดือนประจำตำแหน่งบริหารไปวันๆ อยู่ใน Confort Zone แบบ Play Safe Mode จัดสรรความต้องการของทุกฝ่ายให้ลงตัวและตักตวงผลประโยชน์จากสถาบันเข้าตัวเองให้มากที่สุดโดยที่ภาพลักษณ์ตนเองไม่ต้องเสียหายมาก แค่นี้ก็สามารถผ่านพ้นเรื่องร้ายต่างๆไปได้สบาย
ที่รู้สึกดีใจคือกระแสสังคมที่โจมตีประเด็นทางด้านจริยธรรมของทันตแพทย์หญิงผู้นี้และล่าสุดทาง ฮาร์เวิร์ด เองก็เริ่มตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นแล้ว เท่ากับว่ามาตรฐานทางจริยธรรมของสังคมไทยสูงขึ้นแต่น่าเสียดายที่มันไม่ได้เกิดขึ้นจากการ Top Down ทางด้านนโยบายของชนชั้นนำในประเทศ หากแต่เป็นคณะลูกขุนออนไลน์ ที่ร่วมกันพิพากษาคดีความต่างๆซึ่งเป็นประเด็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ต้องถกเถียงกันต่อไป