สารก่อมะเร็งจากการเผาป่าใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน
Share this post on: Twitter Facebook
กลายเป็นสิ่งที่คุ้นชินเสมือนหนึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาเมื่อเข้าสู่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เมื่อชาวเหนือรวมทั้งนักท่องเที่ยวบางส่วนต้องทนกับการสูดดมเอาหมอกควันอันเนื่องจากการเผาป่า เผาวัชพืชริมทาง รวมทั้งการเผาเศษชีวมวลจากการเกษตร ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักรไทย แต่ก็มีมลพิษทางอากาศจำนวนไม่น้อยที่ปลิวมากับสายลมจากประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นปัญหามลพิษข้ามพรมแดนระดับอาเซียน จากผลงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาระดับความเข้มข้นของกลุ่มสารก่อมะเร็งโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่าสาร พีเอเอช (PAHs) โดยผู้เขียนได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านระดับความเข้มข้นและสัดส่วนของสาร พีเอเอช ในฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ในชั้นบรรยากาศของ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในช่วงวิกฤตหมอกควันตลอด 4 ปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ
ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาของผลงานวิจัย สิ่งแรกที่จำเป็นต้องอธิบายก่อนคือเรื่องระดับความเป็นพิษ (Toxicity) ซึ่งสาร พีเอเอช แต่ละชนิดนั้นมีค่าแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับน้ำหนักโมเลกุลและโครงสร้างของ พีเอเอช แต่ละตัว ทางสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ หรือ US-EPA (Environmental Protection Agency) ได้กำหนดให้มีการเฝ้าระวังสาร PAHs 16 ชนิดได้แก่ Naphthalene (Naph), Acenaphthylene (Ac), Acenaphthene (Ace), Fluorene (Fl), Phenanthrene (Ph), Anthracene (An), Fluoranthene (Fluo), Pyrene (Pyr), Benz[a]anthracene (B[a]A), Chrysene (Chry), Benzo[b]fluoranthene (B[b]F), Benzo[k]fluoranthene (B[k]F), Benzo[a]pyrene (B[a]P), Dibenz[a,h]anthracene (D[a,h]A), Benzo[g,h,i]perylene (B[g,h,i]P), Indeno[1,2,3-c,d]pyrene (Ind) โดยสามารถแบ่งกลุ่มของสาร พีเอเอช 16 ชนิดออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักดังนี้
1. กลุ่ม พีเอเอช ที่มีน้ำหนักโมเลกุลน้อย เช่น Naph Ac Ace Fl สารพีเอเอชกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของก๊าซและมีความเป็นพิษต่ำ
2. กลุ่ม พีเอเอช ที่มีน้ำหนักโมเลกุลปานกลาง เช่น Ph An Fluo Pyr สารพีเอเอชกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ทั้งในสถานะก๊าซและอนุภาคมีความเป็นพิษระดับปานกลาง
3. กลุ่ม พีเอเอช ที่มีน้ำหนักโมเลกุลมาก เช่น B[a]A Chry B[b]F B[k]F B[a]P D[a,h]A B[g,h,i]P Ind สารพีเอเอชกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของอนุภาคและมีความเป็นพิษสูง
พีเอเอช กลุ่มที่ 3 ซึ่งมีน้ำหนักโมเลกุลสูง มักได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษเพราะนอกจากมันจะมีฤทธิ์ก่อให้เกิดมะเร็งแล้วยังทนทานต่อการถูกทำลายด้วยแสง ยูวี หรือ การทำปฏิกิริยากับก๊าซชนิดต่างๆส่งผลให้ระยะเวลาการคงอยู่ในชั้นบรรยากาศของมันนานขึ้นเมื่อเทียบกับสาร พีเอเอช กลุ่มแรกและกลุ่มที่สอง
จากการศึกษาระดับความเข้มข้นของสารก่อมะเร็ง พีเอเอช ในฝุ่นละออง PM2.5 ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน อุตรดิษฐ์ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และ พะเยา ในช่วงที่เกิดวิกฤตหมอกควันพบว่ามีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับความเข้มข้นและสัดส่วนของสาร พีเอเอช ทั้งสามกลุ่มตลอดระยะเวลา 4 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555- พ.ศ. 2558) ที่ผ่านมาดังนี้
1. สารพีเอเอช ส่วนใหญ่ที่พบคือ B[b+k]F (1,855 pg m-3: พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) B[e]P (1,208 pg m-3) B[a]P (349 pg m-3) และ Chry (327 pg m-3) ซึ่งสาร พีเอเอช กลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 หรือกลุ่มที่มีน้ำหนักโมเลกุลมากและมีความเป็นพิเศษสูง
2. ในช่วงปี พ.ศ. 2557- พ.ศ. 2558 มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของสารพีเอเอช ที่เด่นชัดมากนั้นคือการเพิ่มสัดส่วนของ B[b+k]F และ B[e]P ซึ่งมีความเป็นพิษสูงโดยเฉพาะสองชนิดนี้มีสัดส่วนรวมกันคิดเป็นร้อยละ 80 ของพีเอเอชทั้งหมด ในขณะที่ช่วงปี พ.ศ. 2555- พ.ศ. 2556 สารพีเอเอชส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มที่สองหรือกลุ่มที่มีระดับความเป็นพิษปานกลางเช่น Chry, B[a]A, Pyr และ Ph
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้นว่าสาร พีเอเอช แต่ละชนิดมีระดับความเป็นพิษหรือฤทธิ์ในการก่อมะเร็งที่แตกต่างกัน การประเมินผลกระทบในองค์รวมจึงจำเป็นต้องใช้แนวคิดในการนำเอาค่าสัมประสิทธิ์การเทียบเคียงระดับความเป็นพิษ (Toxicity Equivalency Factor: TEF) ตามสูตรของ Nisbet and Lagoy โดยกำหนดให้ B[a]P ซึ่งมีฤทธิ์ในการก่อมะเร็งสูงสุดมีค่า TEF เท่ากับ 1 ส่วนตัวพีเอเอชที่เหลือมีฤทธิ์ในการก่อมะเร็งน้อยกว่าค่า TEF จึงต่ำกว่า 1 เช่น Chry มีค่า TEF เท่ากับ 0.01 หมายความว่า B[a]P มีศักยภาพในการก่อให้เกิดมะเร็งสูงกว่า Chry 100 เท่าเป็นต้น (1/0.01 = 100) เมื่อนำค่า TEF ของสารพีเอเอชแต่ละชนิดมาคูณกับปริมาณตกค้างในฝุ่นละออง PM2.5 ของ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนจะได้ปริมาณการตกค้างใหม่ของสารพีเอเอชที่ถูกเทียบกับ B[a]P โดยมีชื่อเรียกใหม่ว่า B[a]P-Equivalent ซึ่งจากการคำนวณค่า B[a]P-Equivalent พบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2557- พ.ศ. 2558 มีตัวเลขเพิ่มสูงกว่าในช่วงปี พ.ศ. 2555- พ.ศ. 2556 ถึง 17 เท่า!!
จากปัญหาปากท้องที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรต้องดิ้นรนทำการเพาะปลูกซึ่งการเผาในภาคการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก และกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร กลายเป็นปมปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยอาการของโรคร้ายอาจยังไม่แสดงผลภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปี บางครั้งมันจำเป็นต้องใช้เวลานานเกิน 10 ปีกว่าจะแสดงผลออกมาซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะคุ้มกับเม็ดเงินในตัวเลขเศรษฐกิจที่ด้านจากการเพาะปลูกหรือไม่นั้น คงไม่ต้องขบคิดให้เสียเวลาทุกท่านก็คงทราบคำตอบกันดีอยู่แล้ว
สิ่งที่ผู้เขียนอยากเสนอทางออกให้กับปัญหานี้คือทางภาครัฐควรรณรงค์ให้มีการเพาะปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงเช่น
1. สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาสนใจกับการทำ “วนเกษตร” หรือการปลูกพืชเกษตรแซมในพื้นที่ป่าเช่น ชาอัสสัม (Camellia sinensis var. assamica) หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของผลิตภัณฑ์เมี่ยง หรือการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า เช่น กาแฟขี้ชะมด (Kopi Luwak) ซึ่งสินค้าเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่อยู่ในเกรดพรีเมี่ยม เป็นที่ต้องการในตลาดระดับบน สามารถสร้างมูลค่าได้สูงกว่าการเพาะปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยว ทั้งนี้อาจมีการประยุกต์ วนเกษตร ให้เป็นในแบบบ้านสวน ต้นไม้ล้อมไร่น่า ต้นไม้แทรกในไร่นาหรือทุ่งหญ้า เป็นต้น
2. การแก้วิกฤตพลังงานขาดแคลนโดยการสนับสนุนให้มีการปลูกหญ้าเนเปียร์สำหรับใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยอาศัยจุดเด่นของพืชชนิดนี้ซึ่งแตกต่างจาก มันสำปะหลัง ข้าวโพด หรือ อ้อย ที่มักถูกนำมาใช้หมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) สำหรับการปั่นกระแสไฟฟ้า เนื่องจากหญ้าเนเปียร์ใช้เวลาปลูกเพียงครั้งเดียวแต่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 5-6 ปี ขยายพันธุ์ง่าย ปรับตัวให้เข้ากับดินหลายสภาพ ทนแล้งได้ดี ไม่มีโรคและแมลงรบกวน เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทย นอกจากจะนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าแล้วยังสามารถนำไปใช้สำหรับเป็นอาหารสัตว์ได้ด้วย
ในทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอเพียงแต่ว่าผู้ที่มีอำนาจสั่งการจะมองเห็นและมีความกล้าหาญพอที่จะตัดสินใจหรือไม่ แต่ที่แน่นอนคือทุกครั้งที่มีการเผา สารก่อมะเร็งจะถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและตกลงในส่วนที่ลึกที่สุดของก้านปอดของพวกเราทุกคนอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง!
หมายเหตุ: ผู้อ่านท่านใดสนใจข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของผู้เขียนสามารถติดตามได้จากเวปข้างล่าง
http://aaqr.org/ArticlesInPress/AAQR-15-01-SISEASIA-0011_proof.pdf
http://aaqr.org/VOL15_No2_April2015/10_AAQR-13-09-OA-0293_479-493.pdf
http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0048969714017215
http://www.klacp.ac.cn/kycg/scilw/201503/W020150319602348684198.pdf
http://scialert.net/qredirect.php?doi=jas.2014.2967.2977&linkid=pdf