น้ำท่วมฉับพลันโดย Meteotsunami
Share this post on: Twitter Facebook
ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมานี้หากจะกล่าวถึงเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ถูกกล่าวถึงในโลกโซเชียลมากที่สุดคงหนีไม่พ้นน้ำไหล่บ่าจากภูเขาเข้าถล่มตัวอำเภอศรีราชาและล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 17 กันยายน 2558 ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7.9 ถึง 8.3 ที่ชิลีเมื่อเวลา 05.54 น. ตามเวลาประเทศไทยส่งผลให้ทางรัฐบาลชิลีได้สั่งอพยพผู้คนที่อยู่อาศัยตามแนวชายฝั่งที่มีความเสี่ยงตามการประกาศเตือนของศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิกซึ่ง ณ ขณะที่กำลังร่างบทความนี้ ผู้เขียนยังไม่ทราบชะตากรรมของชาวชิลีว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่เมื่อมีข่าวน้ำท่วมฉับพลันกับสึนามิผ่านเข้ามาในสมองก็ทำให้อดนึกถึงผลงานทางวิชาการล่าสุดของ Dr. Kenji Tanaka จากสถาบันเทคโนโลยีฮิโรชิมะ (Hiroshima Institute of Technology) ที่ตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิชาการ Natural Hazard and Earth System Science ของประเทศเยอรมันไม่ได้
เป็นที่ทราบกันดีว่า แผ่นดินไหวใต้ท้องทะเลและมหาสมุทรโดยเฉพาะการสั่นสะเทือนของรอยเลื่อนอันเนื่องจากการเคลื่อนที่เข้าชนกันของแผ่นเปลือกโลกสองแผ่น ในลักษณะที่แผ่นหนึ่งมุดลอดลงไปใต้อีกแผ่นหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการดีดตัวของแผ่นเปลือกโลกขึ้นซึ่งนำมาสู่การยกตัวของมวลน้ำจำนวนมหาศาลกลายเป็นคลื่นยักษ์สึนามิที่มีอำนาจในการทำลายล้างสูง ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล การพุ่งเข้าชนของลูกอุกกาบาตและเป็นที่น่าสังเกตว่าสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูงมากที่สุดเท่าที่มีการจดบันทึกในประวัติศาสตร์กลับไม่ใช่แผ่นดินไหวหรือการพุ่งชนของลูกอุกกาบาตหากเป็น “ดินถล่ม” ที่อ่าวลิทูยา อลาสก้า ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งคลื่นยักษ์นั้นสูงถึง 524 เมตร หรือราวๆสองเท่าของความสูงหอไอเฟล ณ กรุงปารีส! ที่กล่าวมาแล้วคือสาเหตุหลักของการเกิดสึนามิตามที่นักวิชาการทั่วไปวิเคราะห์ แต่ผลงานวิจัยเกี่ยวกับสึนามิอีกประเภทที่เรียกว่า Meteotsunami นั้นยังมีไม่มาก
ทางองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ให้คำจำกัดความ Meteotsunami ว่าเป็นคลื่นสึนามิที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยา หรือเป็นการรวมคำว่า Meteorological (ซึ่งเกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยา) เข้ากับ Tsunami และได้มีการนิยามสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวให้เป็น Sesmic Tsunami โดยสาเหตุของการเกิด Meteotsunami (ภาษาญี่ปุ่นเรียก Abiki) ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของความกดอากาศ อุณหภูมิของอากาศ และ จุดน้ำค้าง (dew point หรือ อุณหภูมิที่ทำให้ไอน้ำเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวซึ่งแปรผันตามความชื้นสัมพัทธ์) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นความโน้มถ่วงของชั้นบรรยากาศ (atmospheric gravitational wave) หรือระลอกในการเคลื่อนตัวของมวลอากาศอันเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก รวมทั้งลมพายุที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเช่น ลมสคอวลล์ (Squall) เป็นต้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Meteotsunami ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2522 ที่จังหวัดนะงะซะกิ (ความสูงคลื่น 2.79 เมตร) และวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ที่จังหวัดคะโกะชิมะ (ความสูงคลื่น 2.90 เมตร) ล่าสุดเมื่อวันที่ 1-5 มีนาคม พ.ศ. 2553 ที่เกาะโคะชิคิ (ความสูงคลื่น 2.00 เมตร) ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติดังกล่าวได้ก่อให้เกิด “น้ำท่วมฉับพลัน” ซึ่งเป็นการไหลบ่าของน้ำทะเลเข้าสู่แผ่นดินคล้ายกับสึนามิแต่ต่างจาก สตอร์มเซิร์จ (storm surge) หรือคลื่นพายุซัดฝั่ง ซึ่งมี “พายุ” เป็นตัวแปรสำคัญในการก่อให้เกิดมหันตภัยร้ายแห่งท้องทะเล การเกิด Meteotsunami อาจจะมีหรือไม่มีพายุก็ได้ แต่ที่แน่ๆคือต้องเกิดการชนกันของมวลอากาศที่มีความแตกต่างกันอย่างรุนแรงทั้งในเรื่องของ อุณหภูมิและความชื้น ดังเช่นการประทะกันระหว่างมวลอากาศที่ร้อนและแห้งจากทะเลทราบโกบีในจีนซึ่งพัดมาจากทางทิศตะวันตกเข้าสู่ทิศตะวันออก และ มวลอากาศที่เย็นและชื้นจากทางตอนเหนือของรัสเซียซึ่งพัดจากทางทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ เมื่อสองมวลอากาศที่ไม่ลงรอยกันมาพบกันที่ทะเลจีนตะวันออก ระลอกของคลื่นความกดอากาศจึงเกิดขึ้นและมันคือหัวรถจักรที่คอยขับเคลื่อนกระบวนรถไฟ Meteotsunami ให้เคลื่อนตัวไปข้างหน้า แม้ว่าสึนามิประเภทนี้จะมีความคล้ายคลึงกับสึนามีที่เกิดจากแผ่นดินไหวมากทั้งในเรื่องของความถี่และความยาวคลื่นแต่สิ่งที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ “ขอบเขต” ในการรุกเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่งนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ Meteotsunami จะส่งผลเฉพาะบริเวณที่แคบกว่าอาจเป็นเพียงแค่อำเภอหรือตำบลหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ในขณะที่ Sesmic Tsunami อาจส่งผลกระทบต่อหลายประเทศขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งที่เกิดการสั่นสะเทือน ความเร็วสูงสุดของคลื่น Meteotsunami เท่าที่เคยวัดได้อยู่ที่ 732 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ณ ทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีเพียงประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สเปน อิตาลี มอลต้า สหรัฐอเมริกา และ แคนนาดา เท่านั้นที่พบปรากฏการณ์ทางธรรมชาติประเภทนี้ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดในโลกสามารถมาค้ำประกันได้ว่ามันจะไม่มีทางเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนจึงจำเป็นต้องตื่นตัวและทำความเข้าใจธรรมชาติของภัยพิบัติที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบอย่างตระหนักรู้แต่ไม่ตื่นตระหนก