มัจจุราชเงียบในสายหมอก (ตอนที่ 1)
Share this post on: Twitter Facebook
ภาพบรรยากาศเมื่อญาติผู้โดยสารสายการบิน Air Asia QZ8501 ได้ยินประกาศเรื่องพบร่างผู้เสียชีวิตลอยอยู่ในทะเลยังคงสร้างความสลดหดหู่ให้กับหลายท่านแม้ว่าในเที่ยวบินลำนั้นจะไม่มีผู้โดยสารชาวไทยอยู่ด้วยก็ตาม ท้ายปีมักจะมีเรื่องเศร้าๆมาบั่นทอนความสุขของพวกเราอยู่เสมอ ไม่รวมถึงการจุดเทียนรำลึกครบรอบ 10 ปี สึนามิซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 มหันตภัยทางธรรมชาติที่คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 280,000 คน หากพิจารณาตัวเลขและความเสียหายที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้คงไม่มีภัยพิบัติทางธรรมชาติไหนที่จะเทียบชั้นได้กับ “สึนามิ” ตอกย้ำด้วยแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งแปซิฟิกโทโฮะกุ พ.ศ. 2554 ซึ่งจัดว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นและเป็นหนึ่งในห้าแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของโลกเท่าที่มีการบันทึกสมัยใหม่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2443 [1-2] โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นยักษ์สึนามิ 15,729 ราย บาดเจ็บ 5,719 ราย และสูญหาย 4,539 ราย ในพื้นที่สิบแปดจังหวัด [3-4] ภาพร่างของผู้โดยสารที่กระจัดกระจายอยู่เหนือผิวน้ำจากเหตุเครื่องบินตก หรือแม้แต่ภาพของบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิถาโถมเข้ามาใส่ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งกระตุ้นชั้นเลิศที่ทำให้ต่อมความกลัวของผู้ที่เสพภาพข่าวทำงานอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง บ่อยครั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติเลยตกเป็นเครื่องมือในการสร้างชื่อเสียงให้กับเหล่านักพยากรณ์ ซินแส หรือแม้แต่นักวิชาการชื่อดังบางท่านที่ออกมาทำนายทายทักแบบตีวงกว้างว่าจะต้องเกิดภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆในช่วงระยะเวลาที่ได้ระบุไว้ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถกำหนดได้อย่างชัดเจนและมักครอบคลุมพื้นที่ไว้กว้างหลายประเทศ พอทำนายถูกก็เป็นประเด็นทางสังคมถูกยกยอให้เทียบชั้น “นอสตราดามุส” เพียงชั่วข้ามคืน แต่หากภัยพิบัติไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่พยากรณ์ไว้ข่าวเรื่องอื่นที่มีความสำคัญมากกว่าก็จะถูกสื่อมวลชนหยิบยกขึ้นมากลบความผิดพลาดของบรรดา “กูรู้” ผู้หยั่งรู้ฟ้าดินเหล่านั้น แม้สังคมโดยรวมจะค่อนข้างอ่อนไหวต่อประเด็นภัยพิบัติจนกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่มักถูกนำมาแชร์ต่อในโซเชียลเน็ตเวิร์คแต่คำถามที่น่าฉุกคิดยิ่งกว่าคือมีเพียงแค่คลื่นยักษ์สึนามิเท่านั้นหรือที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษยชาติและสามารถปลิดชีวิตผู้คนได้นับแสน?
องค์การอนามัยโลกซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติหรือที่รู้จักในชื่อย่อว่า WHO (World Health Organization) ได้รายงานยอดจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกในปี 2555 จากการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศที่สูงถึง 7 ล้านคน! [5] ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 และนอกชายฝั่งแปซิฟิกโทโฮะกุ พ.ศ. 2554 รวมกันถึง 23 เท่า!
จากรายงานสถิติโรค 2555 (Statistical Report 2012) ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขพบว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทุกชนิดในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546-2554 ทุกปีจากร้อยละ 1.52 สูงขึ้นถึงร้อยละ 5.15 [6] สวนทางกับจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่กลับมีแนวโน้มลดลง โดยผลศึกษาพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติในประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปีพบว่าทั้งสองเพศมีแนวโน้มในการสูบบุหรี่ลดลงโดยเพศชายมีอัตราส่วนร้อยละสูงถึง 42.9 ในปี 2544 แต่กลับลดลงเหลือร้อยละ 36.1 ในปี 2554 คล้ายกันกับเพศหญิงที่มีอัตราส่วนร้อยละในการสูบบุหรี่ 2.4 ในปี 2544 และลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.7 ในปี 2554 [7] สะท้อนให้เห็นว่าเทรนด์ “รักสุขภาพ” กำลังมาแรงในกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยกลางคน แต่กระนั้นเหตุใดจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง?
เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว ฮิปโปเครติสบิดาของวงการแพทย์เคยกล่าวไว้ว่า “เจ้ากินอะไรเข้าไป เจ้าก็จะเป็นเช่นนั้น” แนวความคิดนี้ได้ถูกพิธีกรชื่อดังของ Channel 4 จากอังกฤษอย่าง Gillian McKeith นำมาตั้งเป็นชื่อรายการทำอาหาร “You are what you eat” สะท้อนให้เห็นถึงกระแสชีวจิตที่ผู้คนหันมาใส่ใจในเรื่องรายละเอียดของวัตถุดิบเช่น สถานที่เพาะปลูก คุณค่าทางโภชนาการ และการปนเปื้อนของสารพิษต่างๆ ก่อนที่จะนำมันมาปรุงแต่งเป็นอาหารรสเลิศประดับโต๊ะอาหาร กระแสความใส่ใจในเรื่องภูมิหลังของวัตถุดิบย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชนในภาพรวม แต่คงจะดีไม่น้อยหากสังคมจะเอาใจใส่กับคุณภาพอากาศที่เราสูดหายใจเข้าไปทุกชั่วขณะมากกว่านี้ โปรดอย่าลืมว่ามนุษย์สามารถอดอาหารได้เป็นอาทิตย์แต่ขาดอากาศหายใจได้แค่ 2-3 นาทีเท่านั้น! นอกเหนือจาก “You are what you eat” แล้วต่อไปเราควรเพิ่มแนวความคิดของ “You are what you breath” หรือ “เจ้าหายใจอะไรเข้าไป เจ้าก็จะเป็นเช่นนั้น” ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของเวชศาสตร์เชิงป้องกัน (Preventive Medicine) หรือการรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีเปรียบได้กับเป็นการป้องกันที่ต้นเหตุยับยั้งการปลดปล่อยสารก่อมะเร็งสู่สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้น แทนที่จะต้องเสียเงินเสียทองรักษาโรคมะเร็งระยะสุดท้ายคล้ายกับเป็นการแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
เอกสารอ้างอิง
[1] “New USGS number puts Japan quake at 4th largest”. CBS News. 14 มีนาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2011.
[2] Branigan, Tania (2011-03-13). “Tsunami, earthquake, nuclear crisis – now Japan faces power cuts”. The Guardian. Archived from the original on 2011-03-15. สืบค้นเมื่อ 2011-03-15.